อธิบดีกรมธนารักษ์ ขอคืนพื้นที่ “ท่าข้าวกำนันทรง” ที่สวยทำเลดีผืนใหญ่ใจกลางเมือง[ข่าวนครสวรรค์]
นครสวรรค์บ้านเรา ในอดีตเคยขึ้นชื่อ มีชื่อเสียงโดดเด่นเเละเป็นที่หนึ่งอยู่หลายต่อหลายเรื่อง เเต่ทุกอย่างมีช่วงเวลาของมัน เรื่องนี้เป็นสัจธรรม
“ท่าข้าวกำนันทรง” ที่นครสวรรค์บ้านเรา สถานที่แห่งนี้เด็กๆคงไม่รู้จักเเต่ว่าคนเก่าคนเเก่คงจะจดจำภาพความเจริญสุดขีดของท่าข้าวกำนันทรงได้เป็นอย่างดี ครั้งหนึ่งเคยมีข้าวเปลือกหมุนเวียนเข้าออกมากถึง 1 ล้านตันต่อปี สถานที่เเห่งนี้ถือเป็นตลาดกลางค้าข้าวเปลือกแห่งเเรกและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อเเละผู้ขาย มีความเป็นธรรม ไม่มีการแทรกเเซงจากใครทั้งนั้น ปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างเเท้จริง คิดดูว่าสถานที่เเห่งนี้มีอิทธิพลต่อการค้าข้าวระดับประเทศไทยมาก ขนาดที่สมัยนายกฯทักษิณ ชินวัตร ยังเคยมาพูดคุยขอคำปรึกษาเรื่องข้าวจาก “กำนันทรง”
คำว่า “กำนันทรง” ก็คือ “ทรง องค์ชัยวัฒนะ” ถือเป็นที่รู้จักดีของชาวนครสวรรค์โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเเวดวงการค้าข้าว จนกระทั่งมาถึงยุคปัจจุบันคือ “วาสนา อัศรานุรักษ์” ซึ่งเป็นทายาท
ความซบเซาของที่นี่เริ่มเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งเเต่เริ่มมีการให้ราคามากกว่าราคาตลาด หรือ “โครงการรับจำนำข้าว” ตั้งเเต่ปี พ.ศ. 2547 ที่ถือเป็นการพลิกโฉมวงการค้าข้าวในประเทศไทยไปตลอดกาล เเละในที่สุด “ท่าข้าวกำนันทรง” ก็ปิดตัวลงในปี พ.ศ.2549
มาวันนี้ นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ พร้อมด้วย นายสมมาตร มณีหยัน ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีการสำรวจและฐานข้อมูลที่ราชพัสดุ และเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน นว.766 (ท่าข้าวกำนันทรง) ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองใช้ประโยชน์ของกรมเจ้าท่า ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามภารกิจมานานแล้ว กรมธนารักษ์จึงมีความประสงค์จะขอคืนที่ราชพัสดุดังกล่าวมาบริหารจัดการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการตามนโยบายต่างๆ ของกระทรวงการคลังและรัฐบาล โดยในสัปดาห์หน้าจะได้มีหนังสือขอคืนพื้นที่พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากกรมเจ้าท่า และในระหว่างดำเนินการส่งคืน-รับคืน กรมธนารักษ์จะได้วางผังการใช้ประโยชน์ซึ่งเป็นการดำเนินงานแบบคู่ขนานต่อไป สำหรับการลงพื้นที่นี้ ได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า ในการให้ข้อมูลเบื้องต้นเป็นอย่างดี
เราชาวนครสวรรค์ก็ต้องมาคอยลุ้นกันว่า พื้นที่กว้างใหญ่ใจกลางเมือง ทำเลดีติดเเม่น้ำเจ้าพระยาผืนนี้ ในอนาคตจะใช้ทำเป็นอะไร