ความจริงของต้นตอคำว่า “ปากน้ำโพ” รู้เเล้วอย่าเล่าเรื่องผิดๆให้ใครฟังนะ(บทความน่าอ่าน)[ข่าวนครสวรรค์]
ปากน้ำโพ นครสวรรค์ จุดที่แม่น้ำปิง(แม่น้ำโพ หรือแม่น้ำคลองโพ) มาสบกับแม่น้ำน่าน(แควใหญ่) ชาวน้ำ ชาวเรือ ชาวเหนือ ชาวแพสมัยก่อนเรียกจุดที่แควทั้งสอง(ที่จริง 4 แคว)มาบรรจบพบรักกันจุดนี้ว่า “ปากแม่น้ำคลองโพ”
ต่อมาคำนี้ค่อยๆกร่อนลงไปเรื่อยๆ โดยไม่เมื่อยไม่เหนื่อย เหลือเพียง “ปากแม่น้ำโพ” “ปากน้ำโพ”
ผมค่อนข้างระแวงอยู่ห่างๆว่า อีกไม่กี่สิบปี คำนี้จะยิ่งกร่อนลงไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะเมื่อย หรืออาจจะเหนื่อยใจผู้รักภาษาไทย ที่ภาษาวิบัติตามโลกาภิหวัด(วัตน์) เหลือเพียง “ปากโพ” หรือ “ป๊ามโพ” ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ของคำว่า “ปากน้ำโพ” ร่อแร่ยิ่งกว่าเดิม ตามกฎไตรลักษณ์
ลืมคำว่า ปากน้ำโพ สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า ปากน้ำโผล่ เพราะคนสันนิษฐานน่าจะเพี้ยนเสียเอง
ถ้าแม่น้ำ 2 สาย มาประสบพบกันแล้วเรียกว่า ปากน้ำโผล่ ทั่วประเทศสารขัณฑ์คงจะมีปากน้ำโผล่ไม่ต่ำกว่า 9 โผล่
ก็สันนิษฐานกันไปตามจริต ตามภูมิปัญญาที่น่าสมเพชเวทนาแห่งตน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศลให้ไปตามกาล
ถ้าแม่น้ำ 2 สายมาประสบพบกัน เรียกปากน้ำโผล่ แม่น้ำ 3 สายมาจ๊ะเอ๋กัน มิเรียก “ปากน้ำแพลม” หรือครับ
เมื่อแม่น้ำน่าน(แควใหญ่)ไหลมาสบกับแม่น้ำปิง(แม่น้ำพิง(ค์) แม่น้ำคลองโพ/แม่น้ำโพ) ดูเหมือนแค่ 2 แคว ไฉนจึงเรียก “เมืองสี่แคว”
แควน่าน ไปฮุบ “แคว ยม” มาตั้งแต่ปากน้ำเกยไชย ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง นครสวรรค์ แหล่งกบดานของ “ไอ้ด่างเกยไชย” บรรพบุรุษจระเข้บึงบอระเพ็ด ชาละวันเมืองพิจิตร และไอ้เคี่ยม ฟาร์มจระเข้ สมุทรปราการ
แม่น้ำยมพลาดท่ามาไหลลงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านชนิดเห็นคาตา ชื่อน้ำยมจึงสูญลับไปกับตา ใช้ชื่อแม่น้ำสายหลักที่ไหลมาอย่าง สง่างามโดยไม่วอกแวกคดเคี้ยวเลี้ยวไหลไปลงลำน้ำอื่นให้ขายหน้า มาเป็นชื่อลำน้ำที่ไหลต่อมาจากจุดบรรจบ
เป็นอันเข้าใจตรงกันนะครับว่า ชื่อ “แม่น้ำวัง” ก็หดหายไปเพราะเสียท่าไหลเลี้ยวขวาไปลงฝั่งตะวันออกของแควพิง(ค์) หรือแม่น้ำปิง หรือแม่น้ำคลองโพ หรือแม่น้ำโพ หรือแควกำแพง
ปิงกับวัง ไปนัดจูบปาก หอมแก้มกันที่บ้านปากวัง ตำบลตากออก(แต่ไม่มีตำบลตากเข้า นะครับ อีกตำบลน่าจะชื่อ ต.ตากตก) อ.บ้านตาก จ.ตาก ไหลมาเป็นกระแสแควปิงแควเดียวโดดๆ ที่มีสายน้ำเขียวใส (เหมือนขวดเบียร์ระดับพรีเมี่ยมราคาแสนแพง แต่วัตถุดิบแสนถูก กับเบียร์ระดับโครเมี่ยมที่ยกระดับตัวเอง จากเบียร์เดิมขวดสีโอ๊ก รสชาติเดิม ใช้รสขมของข้าวคั่วแทนดอกฮ็อป มาใส่ขวดเขียวใสสีแม่น้ำปิง แล้วลดปริมาณแล้วเพิ่มราคา…เจ็บใจนัก ยิ่งบ่นยิ่งเปรี้ยวปาก)
ที่แม่พิง(ค์) จากเวียงพิงค์ กลายเป็นแม่ปิง เพราะหมู่เฮาจาวเหนือออกเสียง “พิง” บ่จ้าง ออกเป็น “ปิง” ตลอด คนใต้(ภาคกลาง ในความหมายของคนเมืองที่อู้กำเมือง) ก็เลย “ปิง” ตามไปแบบเถน(ร)ส่องบาตร
(ผมชื่อ แพะ เปิ้นยังฮ้องว่า “แป๊ะ” ถามว่าถ้าผมชื่อแป๊ะแล้วจะฮ้องว่าอะหยัง เปิ้นตอบน่าฮักน่าหอมแก้มว่า แป้ะ ฮั่นแน่!..เพี้ยนวรรณยุกต์ เปิ้นก็ยะได้ น่าฮักขนาด)
ด้วยเหตุที่ “ปิง” รวม “วัง” มาด้วยกัน “น่าน” รวม “ยม” มาด้วย นครสวรรค์จึงได้ฉายาว่า “เมืองสี่แคว” ด้วยประการฉะนี้
ผมสวดมนต์ขอพรอย่าให้ชื่อเมืองสี่แคว กร่อนลงไปตามกาลเวลา เหลือเพียง “เมืองสี่” เลย สงสารพี่น้องชาวอีสานของผมที่จะย้าย สำมะโนครัวมาอยู่ “เมืองสี่” จะอึดอัดใจถึงขั้นตรอมใจตาย เพราะชื่อเมืองบีบบังคับจิตใจ และพฤติกรรมกันมากเกินไป…คิกๆๆๆ
แต่ถึงอย่างไรก็ขอฝากที่มาของคำว่า
“ปากแม่น้ำคลองโพ”
“ปากแม่น้ำโพ”
“ปากน้ำโพ”
ไว้ในอ้อมใจของมิตรรักแฟนเพลงของผม “มาริโอ้ เมาเร่อร่า” ด้วยนะครับ นึกว่าช่วยผม “ณเดชน์ คากินะจ๊ะ” เผยแพร่คำว่า “ปากน้ำแพลม”…ขออภัย!…ปากน้ำโพ สู่สาธุชนทั่วราชอาณาจักรให้เกิดดวงตา เห็นธรรมเสียทีครับ….ขรอบครุณคร้าบบบ!
ต้องขอบคุณ เรื่องราวนี้ถูกถ่ายทอดโดย ผู้ที่ใช้นามปากกาว่า โกสินทร์ ปิ่นสุพรรณ
และขอบคุณช่างภาพ FB:Artid Nima